คำชี้แจง
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช-
เจ้า ทรงตั้งกรรมการตรวจชำระแบบเรียนขึ้นคณะหนึ่ง และพระมหา
ทองสืบ ป. ๘ วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นกรรมการ ผู้เรียบเรียงร่าง
พุทธศาสนสุภาษิตนี้ เมื่อคณะกรรมการตรวจชำระแล้ว จึงให้พิมพ์เป็น
พุทธศาสนสุภาษิตเล่ม ๑ สำหรับใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมสืบไป.
ในการตรวจชำระพุทธศาสนสุภาษิตนี้ มีข้อควรชี้แจง ดังนี้
๑. อาศัยคำนำในพุทธศาสนสุภาษิตฉบับเดิมว่า " มีเวลาทำ
น้อย ระเบียบที่จัดไม่เรียบร้อยไปโดยตลอด " ดังนี้ ภายหลังจึงได้
แก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อมาหลายครั้ง เช่นการแยกหมวดธรรม แก้คำแปล
และเพิ่มใหม่เป็นต้น คราวนี้ได้แก้รูปปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ยุตติเป็น
พุทธศาสนสุภาษิตเล่ม ๑.
๒. พุทธศาสนสุภาษิตเล่มแรกมี ๒๔๙ ข้อ พิมพ์ครั้งที่ ๘/๒๔๖๖
เพิ่มขึ้น ๓๗ ข้อ ครั้งที่ ๑๐/๒๔๖๗ เพิ่มขึ้น ๒๔๙ ข้อ และครั้งที่
๑๓/๒๔๗๒ เพิ่มขึ้น ๘๖ ข้อ รวมเพิ่มใหม่ ๓๗๒ ข้อ รวมทั้งสิ้นมี
๖๒๑ ข้อ ส่วนในการตรวจชำระครั้งนี้ (ที่ ๑๔/๒๔๗๗) ได้ตัดที่เฝือ
ออกเสีย ๑๖๐ ข้อ แต่เพิ่มใหม่อีก ๓๙ ข้อ จึงยุตติเป็นพุทธศาสนสุภาษิต
เล่ม ๑ มีสุภาษิต ๕๐๐ ข้อ.
๓. พุทธศาสนสุภาษิตนี้ มีอรรถเป็น ๒ อย่าง คือ แสดงสภาว-
ธรรม ๑ แสดงโอวาท ๑ การคัดเลือกสุภาษิตได้ถือหลักนี้ และเว้น
ภาษิตอื่นอันแย้งกับพุทธวจนะอย่าง ๑ เว้นคำปฏิญญาหรือแสดงมติ
อันขัดกับอรรถทั้งสองนั้นอีกอย่าง ๑.
๔. การจัดหมวดธรรม ได้เรียงตามลำดับอักษร ในหมวดหนึ่ง ๆ
นั้น ที่เนื่องด้วยอรรถ ก็เรียงไว้ตามลำดับอรรถ ที่เนื่องด้วยธรรม
ก็เรียงไว้ตามลำดับธรรม ที่เนื่องด้วยบุคคล ก็เรียงไว้ตามประเภท ที่
เนื่องด้วยโอวาท ก็เรียงไว้ตามข้อห้ามและคำสอน.
๕. คำแปลทั้งปวงอาศัยรูปเรื่องบ้าง อรรถกถาบ้าง สำนวน
ภาษบ้าง มีบางข้อที่พึ่งแก้ไขคำแปลแปลกจากฉบับก่อน ๆ เพราะได้
หลักฐานตามที่กล่าวแล้วนั้นเป็นสำคัญ.
๖. เลขบอกที่มาแห่งสุภาษิตนั้น ๆ ได้ค้นคัดจากพระไตรปิฎก
ฉบับสยามรัฐ ๔๕ เล่ม บางสุภาษิตมีที่มาหลายคัมภีร์ ก็ได้ระบุอักษร-
ย่อและเลขหน้าไว้หลายแห่ง อักษรย่อและเลข หมายความว่า ชื่อและ
หน้าและคัมภีร์นั้น ๆ เช่น ขุ. ธ. ๒๕/๒๙. หมายความว่า ขุททกนิกาย
ธรรมบท พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ หน้า ๒๙ ดังนี้เป็นต้น.
กองตำรา
มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น