หน้าเว็บ

ล่องเรือไหว้พระ ๙ วัด


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
วัดยานนาวา

วัดกัลยาณมิตร

วัดอรุณราชวราราม

วัดระฆังโฆสิตาราม

วัดอมรินทราราม

วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

วัดไผ่ล้อม

วัดเสาธงทอง

วัดปรมัยยิกาวาส

คุณผู้อ่านท่านใด ชื่นชอบเลข ๙ เป็นพิเศษบ้างครับ? ผมคนหนึ่งล่ะที่ชอบเลข ๙ (อาจจะเป็นเพราะเกิดวันที่ ๙) แถมยังมีคติความเชื่อเหมือนกับอีกหลายท่านที่ว่า เลข ๙ พ้องเสียงกับคำว่า "ก้าว" จึงมีความหมายไปในทางบวกคือ ก้าวไปข้างหน้า สื่อถึงความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เลข ๙ จึงเป็นตัวเลขที่เราเชื่อว่าเป็นเลขมงคลนั่นเองครับ
      
       ในขณะที่ คนไทยเกือบทั้งหมดดำรงตนเป็นพุทธศาสนิกชนผู้ให้ความนับถือ ศรัทธาในพุทธศาสนา เมื่อนำความเลื่อมใส ศรัทธามารวมเข้ากับคตินิยมในเลข ๙ จึงเกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนไทยเข้าใกล้พุทธศาสนา นั่นก็คือ ‘การไหว้พระ ๙ วัด เสริมสิริมงคล’ นั่นเองครับ
      
       พระมหาศรีพยัคฆ์ สิริวิญญู จากวัดวิมุตยาราม พระธรรมวิทยากรในกิจกรรมล่องเรือไหว้พระ ๙ วัด กับโครงการธรรมาภิวัตน์ ได้กล่าวถึงคุณค่าจากการเข้าร่วมกิจกรรมไหว้พระ ๙ วัดไว้ว่า
      
       "เมื่อมาไหว้พระ ๙ วัดแล้วเกิดสติ เกิดปัญญาขึ้น เมื่อกลับไปที่บ้าน เพราะเมื่อได้เห็นวัดวาอารามต่างๆ จิตก็เกิดความสงบขึ้น เพราะฉะนั้นมีประโยชน์มากมายจากการไหว้พระ ๙ วัด โดยเฉพาะการได้ไปเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของวัดวาอารามต่างๆ เชื่อว่าหลายคนก่อนจะมาไหว้พระ ๙ วัด ยังไม่รู้เลยว่าวัดแต่ละวัดชื่ออะไร เมื่อมาถึงแต่ละวัด ก็จะมีพระคอยให้คำแนะนำ เมื่อรู้แล้วก็เกิดความศรัทธา เมื่อกลับบ้านไปก็เกิดความเลื่อมใส ศรัทธาในการจะดูแลพระพุทธศาสนาต่อไป"
      
       อันที่จริงการไหว้พระ ๙ วัดนั้น มีด้วยกันหลายเส้นทาง บ้างก็เลือกไปตามวัดชื่อดัง วัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ บ้างก็จัดไหว้พระ ๙ วัดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในขณะที่เส้นทางการไหว้พระ ๙ วัดของโครงการธรรมาภิวัตน์ที่เราจัดกันขึ้นนั้น เน้นการไหว้พระตามวัดที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเพราะเล็งเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตคนไทยที่ผูกพันกับสายน้ำมาช้านาน เปรียบเสมือนสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ
      
       เราเริ่มต้นจากที่นี่ครับ...
      
       "วัดยานนาวา" เป็นวัดโบราณที่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการบูรณะมาเรื่อยๆ จนมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าให้ปฏิสังขรณ์และสร้างสำเภาพระเจดีย์ใช้แทนการสร้างเจดีย์ เหตุเพราะอยากให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภา ซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทยนั่นเองครับ
      
       พระองค์ยังทรงโปรดฯ ให้วาดรูปกระทงใหญ่ในฝาผนัง ซึ่งเป็นกระทงตามแบบที่ใช้ในพระราชพิธีลอยพระประทีป รวมถึงรูปโถยาคูตามแบบอย่างที่ทำเลี้ยงพระในพระราชพิธีสารทในรัชสมัยของ พระองค์อีกด้วยครับ
      
       มีคติความเชื่อว่า ถ้าได้ไปวัดยานนาวา ชีวิตจะเหมือนกับเรือสำเภา นำพาผ่านอุปสรรค ก้าวสู่ความหลุดพ้นครับ
      
       วัดที่สอง อยู่ห่างจากวัดยานนาวาไม่มากนัก คือ "วัดกัลยาณมิตร" เป็นอีกวัดที่มีความเก่าแก่สวยงามมาก และเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปาง ปาลิไลยก์ บริเวณภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติที่แทรกเรื่องราว ชีวิตชาวบ้านชาวเมืองสมัยรัชกาลที่ ๓ ด้วย ซึ่งเป็นศิลปะที่มีทั้งคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์สังคมไทย โดยมีคติความเชื่อว่า หากได้มากราบพระที่วัดกัลยาณมิตร ก็มีแต่ผู้มีมิตรไมตรีที่ดีเข้ามาหาครับ
      
       ต่อกันด้วย "วัดอรุณราชวราราม" วัดคู่บ้านคู่เมืองที่มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมมากราบ ไหว้และชมสถาปัตยกรรมความงามของวัดแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย สิ่งที่เด่นเป็นสง่าของวัดนี้คือ พระปรางค์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นศิลปะแบบขอมที่มีความสวยงามมากครับ และมีคติความเชื่อกันว่าถ้าได้มาสักการบูชา ชีวิตก็จะเจริญรุ่งเรืองครับ
      
       วัดที่ ๔ นี้มีชื่อเสียงโด่งดัง เหมือนกับชื่อวัด คือ "วัดระฆังโฆสิตาราม" ตามประวัติเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และได้ขุดพบระฆังโบราณที่วัดนี้ เป็นระฆังที่มีเสียงไพเราะมาก พระองค์ทรงให้นำไปเก็บไว้ที่วัดพระแก้วฯ และทรงสร้างระฆังพระราชทาน ๕ ลูกมาไว้แทน บริเวณภายในวัดยังมีหอพระไตรปิฏกเก่าแก่ เดิมเป็นพระตำหนักเก่าของรัชกาลที่ ๑ (สมัยเมื่อครั้งรับราชการเป็นพระราชวรินทร์) ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกไทย
      
       ทั้งนี้ มีคติความเชื่อกันว่า การได้มาไหว้พระวัดระฆัง จะทำให้ชื่อเสียงโด่งดัง และมีคนนิยมชมชอบอีกด้วยครับ
      
       เราล่องเรือต่อไปที่ริมคลองบางกอกน้อยกันครับ ที่ "วัดอมรินทราราม" เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อ วัดบางหว้าน้อย บริเวณภายในพระอุโบสถมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะปิดทองแบบสุโขทัย มีมณฑปพระพุทธบาทจำลอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นมณฑปทรงจัตุรมุข หลังคาประดับด้วยเครื่องกระเบื้องและถ้วยชามเขียนสีของจีน ฝีมือปราณีตงดงามมาก ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง
      
       จากนั้นไปนมัสการพระพุทธเทวราชปฏิมากร ณ "วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร" บริเวณภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสมัยต่างๆ จำนวน ๙ องค์ และอีกหนึึ่่งความน่าสนใจ คือ พิพิธภัณฑ์สักทอง ที่สวยสดงดงาม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช ๑๘ พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา
      
       วัดที่ ๗ ที่จะเดินทางไปนั้น เราจะข้ามฝั่งไปทางด้านของเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ที่ "วัดไผ่ล้อม" ซึ่งสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในวัดมีโบสถ์ที่มีความสวยสดงดงาม หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์รูปทรงคล้ายผลมะเฟือง ด้านหลังอุโบสถมีพระธาตุรามัญเจดีย์ขนาดใหญ่ รอบฐานในทิศทั้งแปด มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวัดแบบมอญ ทั้ง ๘ ทิศ
      
       มาถึงวัดที่ ๘ ยังคงอยู่กันที่เกาะเกร็ดครับ ไปกันที่ "วัดเสาธงทอง" เดิมชื่อวัดสวนหมาก ภายในวัดมีเจดีย์ย่อมุมสิบสองขนาดใหญ่อยู่หลังโบสถ์ ภายในโบสถ์มีลายเพดานเป็นลายทองเขียนลายกรุยเชิงสวยงามมากๆ ครับ พระประธานเป็นพระปางมารวิชัย โดยมีคติความเชื่อว่า ถ้าได้มากราบสักการะจะมีชีวิตที่รุ่งโรจน์ดุจทองนั่นเองครับ
      
       และวัดสุดท้ายในกิจกรรมล่องเรือไหว้พระ ๙ วัดคือ "วัดปรมัยยิกาวาส" หรือชื่อเดิมว่าวัดปากอ่าว ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัด โปรดให้สร้างพระเจดีย์รามัญ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระราชทานนาม "วัดปรมัยยิกาวาส"
      
       เนื่องจากศิลปะการสร้างมีลักษณะแบบมอญ คนละแวกนี้จึงเรียกกันว่า "วัดมอญ" ภายในวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง และบานประตู หน้าต่างโบสถ์ประดับลายปูนปั้นอย่างสวยงามครับ ที่สำคัญวัดนี้เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฎกภาษามอญไว้ได้ และถือว่าเป็นวัดศูนย์กลางของชุมชนชาวมอญอีกด้วย
      
       การไหว้พระ ๙ วัดนั้น แม้จะเป็นกิจกรรมมงคลที่สร้างกุศลให้กับชีวิต แต่พระครูสังฆกิจพิมล แห่งวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ได้เมตตากระทุ้งเตือนสติของแก่นในการนับถือพุทธศาสนาไว้ว่า
      
       "การไหว้พระ ๙ วัดเป็นคำเชิญชวนในโอกาสวันสำคัญต่างๆ เป็นการเชิญชวนกันไปทำบุญตามวัดต่างๆ ไปกราบไหว้พระพุทธรูป ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะไปโน้มน้าวจิตใจเข้าถึงพุทธศาสนา แต่ถ้าจะไหว้พระกันให้ถึงพระจริงๆ ก็คือต้องนำคำสอนมาปฏิบัติ ถ้าไปไม่ถึง ๙ ก็ไม่เป็นไร เราอย่าไปยึดถือตัวเลขกันมากนัก ได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่ที่นิยม ๙ เพราะอาจหมายถึงความก้าวหน้าก็ได้
      
       เราอยู่ในยุครัชกาลที่ ๙ ก็เป็นตัวเลขที่ดี อยากให้ทำเป็นสองระดับคือ มีศรัทธาในการไปกราบไหว้พระ แล้วก็มีปัญญาด้วย คือทำด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตมากเลยทีเดียว
      
       และถ้าพูดอีกมุมหนึ่งคือ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ ๙ วัด หรือว่าที่ไหน อยู่ที่ว่าไหว้พระถึงวัดไหม มันไม่ใช่สักแต่ว่ากราบๆไหว้ๆ จึงจะถึงได้ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์เคยตรัสว่า ในขณะที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ จับชายจีวรอยู่ ยังไม่ถือว่าเข้าถึงเลยนะ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ พระวักกลิ ท่านนั้นเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามาก ตามพระพุทธเจ้าไปทุกที่ พระพุทธองค์ก็ทรงดำรัสว่า ถ้าเจ้ายังทำอยู่อย่างนี้ ไม่มีทางบรรลุถึงธรรมอย่างแน่นอน เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาเฝ้าดูร่างกายที่เปื่อยและผุพังไปเรื่อยอย่าง นี้
      
       พระวักกลิก็น้อยใจจะไปกระโดดเหวตาย พระพุทธองค์ก็ไปปรากฏกายให้เห็น แล้วตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” เห็นแค่เพียงการเกิดและการดับทุกข์ นั่นก็หมายความว่า ถ้าใครที่จะเข้าถึงพระพุทธเจ้า ก็คือนำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ โดยการดับทุกข์แก้ปัญหาได้นั่นเอง"

      
       จะเห็นได้ว่า การไปไหว้พระทำบุญนั้น เป็นเพียง "อามิสบูชา" คือการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการบูชา เช่น ธูป เทียน ดอกไม้ หากแต่การจะให้ได้บุญมากนั้น จักต้องเป็นไปด้วยการ "ปฏิบัติบูชา" คือ บูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เอาง่ายๆ ๓ ข้อ ดังนี้ ครับ
      
       ๑. มีศีลธรรม รักษากาย วาจา ใจ ไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดให้ร้าย ใจไม่คิดอาฆาตพยาบาทผู้อื่น มีเมตตาแก่ทุกคน
      
       ๒. สมาธิ ให้มีความแน่วแน่ในการปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ หมั่นภาวนา เจริญสติอยู่เป็นนิจ จะทำให้จิตใจเบิกบาน สามารถละซึ่ง ความโลภ โกรธ หลง หรือทำให้กิเลสทั้งสามเบาบางลงได้
      
       ๓. ปัญญา คือ การรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น โดยปัญญาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะรู้เข้าใจธรรมะเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการรู้ว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ทำความชั่ว จะทำอย่างไรจะอยู่ในโลกปัจจุบันอย่างมีความสุขได้ เหล่านี้คือปัญญาที่พระองค์ประสงค์จะให้เกิดแก่ทุกคน
      
       ดังนั้น การเข้าวัด ไหว้พระ จึงเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ทุกเมื่อ ซึ่งไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดความสบายใจ หากยังเป็นกุศโลบายที่สร้างความเชื่อมั่นในการพาชีวิตก้าวเดินต่อไปในอนาคต
      
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี)






ที่มาข้อมูล   ผู้จัดการ Online